ขับถ่ายให้เป็นเวลา ช่วยลดความเสี่ยงอุจจาระอุดตัน
ขับถ่ายให้เป็นเวลา ช่วยลดความเสี่ยงอุจจาระอุดตัน

การขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา อย่างสม่ำเสมอ มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย สามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคอุจจาระอุดตัน หรือ โรคขี้เต็มท้อง อาการท้องผูก ภาวะลำไส้อุดตัน โรคมะเร็งลำไส้ และโรคอื่นที่เกี่ยวกับการขับถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอุจจาระอุดตัน หรือ โรคขี้เต็มท้อง ที่จะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกอย่างรุนแรง หลายท่านมักคิดว่าการใช้ยาระบายก็สามารถรักษาโรคอุจจาระอุดตันได้ แต่ความจริงแล้ว จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า

 

 

อุจจาระอุดตันคืออะไร

 

ภาวะอุจจาระอุดตัน (Chronic Constipation) หรือ โรคขี้เต็มท้อง คือ ภาวะอาการท้องผูกอย่างรุนแรง มีอุจจาระแห้ง ค้างอยู่ที่ลำไส้อยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่าย เนื่องจากอุจจาระส่วนต้นถูกดูดน้ำกลับมาที่ส่วนปลาย ก่อให้เกิดเป็นก้อน  และเมื่ออุจจาระที่ค้างอยู่ที่ลำไส้เวลานานจนเกิดการแข็งตัว ก็จะทำให้ขับถ่ายไม่ออก หรือขับถ่ายออกได้ยาก เพราะว่า ลำไส้มีการขยายออก แรงที่จะหดกลับไม่เพียงพอ จนไม่สามารถทำการเบ่งอุจจาระออกมาได้

 

 

สาเหตุของอุจจาระอุดตัน

 

สาเหตุของอุจจาระอุดตันที่มาจากพฤติกรรม

      

  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

      

  • ไม่รับประทานผัก และผลไม้ หรือรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป

      

  • การรับประทานอาหารประเภท แป้ง ไขมัน และน้ำตาลมากจนเกินไป

      

  • ไม่ออกกำลังกาย จึงขาดการกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย

 

สาเหตุของอุจจาระอุดตันที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย

      

  • ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคท้องผูก

      

  • ความผิดปกติของร่างกายบริเวณลำไส้

      

  • ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ ได้รับอาการบาดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง

      

  • การใช้ยาที่มีคุณสมบัติลดการเคลื่นไหวของลำไส้เป็นเวลานาน เช่น ยากลุ่ม calcium channel blockers ซึ่งใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาแก้ปวดกลุ่ม narcotics  และยาลดกรด เป็นต้น

      

  • โรคต่างๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคได้รับผลกระทบกับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคไทรอยด์

 

 

อาการของโรคอุจจาระอุดตัน

      

  • ปวดท้องแบบบีบๆ

      

  • แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ

      

  • คลื่นไส้

      

  • อาเจียน

      

  • ขับถ่ายไม่สะดวก ต้องออกแรงแบ่งอุจจาระ

      

  • ลักษณะของอุจจาระเป็นก้อนเล็ก แข็ง

      

  • มีความรู้สึกเจ็บทวารหนัก

      

  • หลังจากการขับถ่ายอุจจาระ จะมีเลือดออกบริเวณขอบทวารหนัก

      

  • หลังจากการขับถ่ายอุจจาระ จะรู้สึกว่าขับถ่ายอุจจาระออกไม่หมด

      

  • มีความรู้สึกว่าอุจจาระเล็ด

      

  • ปวดหลังบริเวณส่วนล่าง

 

 

การตรวจวินิจฉัยโรคอุจจาระอุดตัน

 

 การวินิจฉัยขั้นต้น

 

  • แพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย และทำการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาอาการท้องผูก การทำงานของลำไส้ การทำงานของหูรูด แผลในลำไส้ และโรคมะเร็งลำไส้

 

การวินิจฉัยด้วยการใช้เทคโนโลยี

 

  • Sitzmarks Capsule เป็นนวัตกรรมในการตรวจวัดการบีบตัวของลำไส้ โดยการกลืน Sitzmarks 1 แคปซูล และอีก 5 วัน สามารถรู้ผลได้จากการ X-ray

      

  • การใช้ MRI ในการตรวจการเบ่งถ่าย เพื่อดูพยาธิสภาพของลำไส้ส่วนปลาย  รวมทั้งความผิดปกติของอุ้มเชิงกรานและหูรูดทวารหนัก

      

  • การตรวจวัดการทำงานของลำไส้ใหญ่ และหูรูดทวารหนักชนิดความละเอียดสูง (High-Resolution Anorectal Manometry) สามารถวัดการทำงานของหูรูด

 

 

อุจจาระอุดตัน

 

 

การรักษาโรคอุจจาระอุดตัน

 

  • แพทย์จะทำการสวนทวารหนักของผู้ป่วยด้วยนิ้ว

 

  • การรักษาด้วยการเหน็บยา

 

  • การรักษาการให้ยา

 

  • หากผู้ป่วยมีอาการของโรคอุจจาระอุดตันรุนแรง แพทย์จะทำการผ่าตัด เพื่อนำอุจจาระออกมาจากลำไส้ของผู้ป่วย

 

 

การลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอุจจาระอุดตัน

 

  • ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

 

  • หลีกเลี่ยงการอั้นอุจจาระ

 

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

 

  • รับประทานผัก และผลไม้ รวมทั้งอาหารที่มีกากใย

 

  • ลดการรับประทานอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล และไขมัน

 

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

 

เมื่อเป็นโรคอุจจาระอุดตัน ควรจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย หรือยากระตุ้นลำไส้  โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของมะขามแขก ยาประเภทนี้จะทำให้ลำไส้ไม่ทำงาน หรือลำไส้ขี้เกียจ ซึ่งในที่สุดแล้วจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เกิดความผิดปกติของลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ หรือลำไส้แปรปรวน แต่การขับถ่ายให้เป็นเวลาต่างหาก ที่จะช่วยลดความเสี่ยงอุจจาระอุดตันได้ดีที่สุด